ประวัติคณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
คณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Faculty of Fine-Applied Arts and Cultural Science
อักษรย่อ FACS เป็นนามที่ถูกตั้งขึ้น ตามประกาศมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เรื่อง การเปลี่ยนชื่อส่วนงานภายในของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม พ.ศ.2563
มีข้อความในประกาศ ความว่า
“ตามที่สภามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในการประชุมครั้งที่ 11/2545 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2545 ได้มีมติให้จัดตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์ (Faculty of Fine and Applied Arts)
เป็นส่วนงานภายในของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และในการประชุมครั้งที่ 6/2563 เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2563 มีมติให้ยุบเลิกคณะวัฒนธรรมศาสตร์เพื่อควบรวมกับ
คณะศิลปกรรมศาสตร์แล้วนั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาสารคาม พ.ศ.2537 ประกอบกับมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารส่วนงานภายในของสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2550 สภามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในการประชุมครั้งที่ 7/2563 เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ.2563 จึงให้เปลี่ยนชื่อ
คณะศิลปกรรมศาสตร์ (Faculty of Fine and Applied Art) เป็น คณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ (Faculty of Fine – Applied Arts and Cultural Science)
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ.2563
(นายสราวุธ เบญจกุล)
นายกสภามหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ทั้งนี้ คณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ มีจุดกำเนิดจากการจัดการเรียนการสอนวิชาศิลปะกับมนุษย์ ซึ่งเป็นวิชาพื้นฐานของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตมหาสารคาม หรือ มศว มหาสารคาม เปิดการสอนครั้งแรกในปี พ.ศ.2512 โดยมี อาจารย์อาคม วรจินดา เป็นอาจารย์ผู้สอน ต่อมาในปี พ.ศ.2516 ได้เปิดการสอนวิชาโทศิลปศึกษา โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์มุณี พันทวี ร่วมเป็นแกนนำ อาจารย์ทั้งสองท่านได้สร้างบทบาททางศิลปะและวัฒนธรรมให้กับมหาวิทยาลัยจนเป็นที่ยอมรับ และเปิดหลักสูตรวิชาเอกศิลปศึกษาขึ้นในปี พ.ศ.2523 (รุ่นสุดท้ายปีการศึกษา พ.ศ.2541)
ภายหลังจากที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตมหาสารคาม ได้แยกตัวเป็นมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2537 โดยพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งได้ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 111 ตอนที่ 54 ในปีการศึกษา 2538 นั้น คณาจารย์สาขาศิลปศึกษา ก็ได้เปิดหลักสูตรสาขาวิชาจิตรกรรมขึ้นอีกหลักสูตรหนึ่งในปีการศึกษา พ.ศ.2539 เป็นหลักสูตรที่มีนิสิตและบัณฑิตเพียงรุ่นเดียว ด้วยในปีต่อมา (ปีการศึกษา 2540) หลักสูตรจิตรกรรมได้ถูกปรับเป็นหลักสูตรทัศนศิลป์ ในปีเดียวกันนี้เอง สาขาวิชาศิลปศึกษาได้รวมกันกับหลักสูตรสาขาวิชาดุริยางคศิลป์ ตั้งเป็น “ภาควิชาทัศนศิลป์และศิลปะการแสดง” สังกัดคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และได้สร้างหลักสูตรสาขานาฏศิลป์ขึ้นมาในภาควิชาในปี พ.ศ.2540 นั่นเอง ทำให้ภาควิชาทัศนศิลป์และศิลปะการแสดง จึงมี 3 กลุ่มสาขาวิชา คือ ทัศนศิลป์ ดุริยางคศิลป์ และนาฏศิลป์ พร้อมกันนั้น ก็ได้รวมตัวกันเป็นแกนนำสำคัญในการนำเสนอ โครงการจัดตั้งคณะใหม่ โดยร่วมกับ ผศ.ทรงคุณ อัตถากร สถาปนิกที่มาเปิดหลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตร์ รวมตัวกันเป็นโครงการจัดตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผลิตบัณฑิตปริญญาตรี 5 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาทัศนศิลป์ สาขาวิชา ดุริยางคศิลป์ สาขาวิชานาฏยศิลป์ สาขาวิชานฤมิตศิลป์ (แรกทีเดียวสาขานฤมิตศิลป์อยู่ในการกำกับดูแลและจัดการสอนโดยอาจารย์สาขาทัศนศิลป์) และสาขาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์
ปี พ.ศ.2543 สาขาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ได้แยกตัวไปจัดตั้งคณะใหม่ โดยได้ขอหลักสูตรสาขาวิชานฤมิตศิลป์จากทัศนศิลป์ไปสังกัดด้วย และได้รับอนุมัติจัดตั้งเป็นคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ ในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2543 โครงการจัดตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์ จึงดำเนินการโดย 3 สาขาวิชาหลัก คือ ทัศนศิลป์ ดุริยางคศิลป์ และ นาฏศิลป์ และได้เสนอขอเป็นคณะวิชา ซึ่งนายมีชัย ฤชุพันธุ์ นายกสภามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ออกประกาศมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2545 เรื่อง “จัดตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์” โดยไม่เป็นส่วนราชการตามความในมาตร 6 และมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาสารคาม พ.ศ.2537 ว่า
“โดยที่เป็นการสมควรให้จัดตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 14 (4) แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาสารคาม พ.ศ.2537 และมติสภามหาวิทยาลัยครั้งที่ 2 / 2545 เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2545 อนุมัติ ให้จัดตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์ เรียกชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “Faculty of Fine and Applied Arts” โดยไม่เป็นส่วนราชการตามความในมาตร 6 และ มาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาสารคาม พ.ศ.2537 ให้มีหน้าที่จัดการศึกษาทำนองเดียวกันกับคณะ”
ทั้งนี้ สภามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในการประชุมครั้งที่ 11/2545 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2545 ได้มีมติให้จัดตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์ (Faculty of Fine and Applied Arts) เป็นส่วนงานภายในของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ.2545 (ดังได้นำเสนอไว้ตอนต้น) ประกอบด้วย 3 ภาควิชา คือ ภาควิชาทัศนศิลป์ ภาควิชาดุริยางคศิลป์ และภาควิชานาฏศิลป์ โดยมี ศาสตรเมธีนนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน ศิลปินแห่งชาติเป็นคณบดีท่านแรก ครั้นต่อมา ภาควิชาดุริยางคศิลป์ ก็ได้แยกตัวไปตั้งเป็นวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ได้รับการอนุมัติตั้งเป็นวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ โดยมติสภามหาวิทยาลัยมหาสารคาม เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2550
หลังจากวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2550 คณะศิลปกรรมศาสตร์ เป็นหน่วยงานที่เหลือเพียง 2 ภาควิชาคือภาควิชาทัศนศิลป์ กับ ภาควิชาศิลปะการแสดง มีหลักสูตรระดับปริญญาตรี สองสาขา คือ สาขาทัศนศิลป์กับสาขาศิลปะการแสดง ปริญญาโท 2 สาขา คือ สาขาทัศนศิลป์ กับสาขาการวิจัยศิลปกรรมศาสตร์ ปริญญาเอก 1 สาขา คือ สาขาการวิจัยศิลปกรรมศาสตร์ กระนั้น คณะภายใต้การนำของ ศาสตรเมธีนนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน ก็ได้พัฒนาความเข้มแข็งด้านศิลปกรรมศาสตร์อย่างโดดเด่น โดยเฉพาะความร่วมมือกับประเทศเวียดนาม ได้บุกเบิกสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาศิลปะเว้ ส่งผลให้มีนิสิตปริญญาโทจากประเทศเวียดนามเข้ามาเรียนที่หลักสูตรปริญญาโทสาขาทัศนศิลป์เป็นจำนวนร่วม 100 คน ซึ่งได้กลายเป็นเครือข่ายการสร้างสรรค์ที่สำคัญระหว่างประเทศไทยกับเวียดนามตราบจนปัจจุบัน รวมทั้ง การเป็นศูนย์กลางของสมาคมศิลปินอีสานที่เชื่อมโยงกับศิลปินชั้นนำของประเทศ ทำให้คณะศิลปกรรมศาสตร์ กลายเป็นศูนย์กลางความร่วมมือ การสร้างสรรค์ของศิลปินในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ครั้นตั้งแต่ ปี พ.ศ.2558 เป็นต้นมา ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย สิงห์ยะบุศย์ คณบดี คณะศิลปกรรมศาสตร์ มีนโยบายปลดล็อกคณะศิลปะกรรมศาสตร์จากคณะขนาดเล็กเป็นคณะขนาดกลางและพร้อมเติบโตเป็นคณะขนาดใหญ่ จึงได้เปิดหลักสูตรปริญญาเพิ่มอีก 1 สาขา คือสาขาการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ปรับใหญ่หลักสูตร ปริญญาโท ปริญญาเอกสาขาการวิจัยศิลปกรรมศาสตร์ เป็นสาขาการวิจัยและสร้างสรรค์ศิลปกรรมศาสตร์ เพื่อตอบสนองการรับนิสิตได้กว้างขวางขึ้น เปิดและหลักสูตรปริญญาโทสาขาศิลปะการแสดง พร้อมกับดำเนินวิสัยทัศน์ กำหนดตัวเองเป็น HUB และ NODE ทางศิลปกรรมศาสตร์ของประเทศ CLMTV&CN ได้ลงนามความร่วมมือกับสถาบันหลักทางศิลปะในประเทศกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ ไทย เวียดนาม และจีน ส่งผลต่อความร่วมมือกับต่างประเทศ ในรูปแบบ Inbound และ Outbound และส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของนิสิตต่างประเทศทั้งระดับปริญญาตรี และระดับบัณฑิตศึกษาเป็นจำนวนมาก
ในปี พ.ศ.2563 ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่สัมพันธ์กับคณะศิลปกรรมศาสตร์ กับ คณะวัฒนธรรมศาสตร์ กล่าวคือ สภามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในการประชุมครั้งที่ 6/2563 วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2563 ได้มีมติให้ความเห็นชอบในการยุบเลิกคณะวัฒนธรรมศาสตร์ เพื่อรวมกับคณะศิลปกรรมศาสตร์ ในประกาศมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เรื่อง การยุบเลิกคณะวัฒนธรรมศาสตร์เพื่อรวมกับคณะศิลปกรรมศาสตร์ พ.ศ.2563 ลงวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2563
กล่าวสำหรับ คณะวัฒนธรรมศาสตร์ (เดิม) มีพัฒนาการมาจากหลักสูตรบัณฑิตศึกษาสาขาวัฒนธรรมศาสตร์ เปิดสอนครั้งแรกในปีการศึกษา 2547 สภามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้อนุมัติตั้งเป็นคณะวัฒนธรรมศาสตร์ สังกัดสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน ในวันที่ 28 มกราคม พ.ศ.2554 โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ทรงคุณ จันทจร เป็นคณบดีท่านแรก ปี พ.ศ.2556 คณะได้เปิดหลักสูตรระดับปริญญาตรี ศศ.บ.การจัดการวัฒนธรรม อย่างไรก็ตาม หลังจากมหาวิทยาลัยบังคับใช้เกณฑ์ประกันคุณภาพหลักสูตร พ.ศ.2558 ที่เข้มงวดด้านองค์ประกอบต่าง ๆ เป็นต้นมา กอปรกับจำนวนบุคลากรที่มีจำนวนจำกัด ทำให้เกิดวิกฤติการเคลื่อนตัวไปข้างหน้า วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2563 สภามหาวิทยาลัยจึงมีมติให้ยุบรวมคณะวัฒนธรรมศาสตร์เข้ากับคณะคณะศิลปกรรมศาสตร์ ภายใต้การบริหารคณะจากคณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ท่านเดิมในช่วงเวลาดังกล่าว คือ ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย สิงห์ยะบุศย์
วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ.2563 สภามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ประกาศแบ่งหน่วยงานภายในคณะศิลปกรรมศาสตร์ เป็น 2 ส่วน คือ สำนักงานเลขานุการคณะ ประกอบด้วย 2 กลุ่มงาน คือ กลุ่มงานบริหาร และกลุ่มงานวิชาการและพัฒนานิสิต กับสามภาควิชา ประกอบด้วย 1) ภาควิชาทัศนศิลป์ ทำหน้าที่ผลิตบัณฑิตปริญญาตรีและปริญญาโทสาขาทัศนศิลป์ 2) ภาควิชาศิลปะการแสดง ทำหน้าที่ผลิตบัณฑิตปริญญาตรีและปริญญาโทสาขาศิลปะการแสดง และ 3) ภาควิชาวัฒนธรรมและการออกแบบ ทำหน้าที่ผลิตบัณฑิตปริญญาตรีสาขาการจัดการวัฒนธรรม และหลักสูตรการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ส่วนหลักสูตรปริญญาโท และปริญญาเอก สาขาการวิจัยและสร้างสรรค์ศิลปกรรมศาสตร์ กับ สาขาวัฒนธรรมศาสตร์ เป็นหลักสูตรที่บูรณาการอาจารย์ผู้สอนร่วมกันทุกสาขา จัดเป็นหลักสูตรกลางอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของงานบัณฑิตศึกษาคณะ
คณะศิลปกรรมศาสตร์ได้เปลี่ยนชื่อคณะเป็น “คณะศิลปะกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์” ในการประชุมสภามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ครั้งที่ 7/2563 วันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ.2563 ที่ได้มีมติเห็นชอบและออกประกาศมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ให้เปลี่ยนชื่อ คณะศิลปกรรมศาสตร์ (Faculty of Fine and Applied Arts) เป็น คณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ (Faculty of Fine – Applied Arts and Cultural Science) ตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ.2563 เป็นต้นไป อันเป็นไปตามข้อเสนอข้อที่ 2 ในมติสภามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ครั้งที่ 6/2563 ให้เพิ่มนาม “วัฒนธรรมศาสตร์” รวมกับคณะศิลปกรรมศาสตร์เป็น “คณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์”
คณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ ได้สร้างความเข้มแข็งจากการผสานรวมกันสองคณะ โดยยังคงดำเนินวิสัยทัศน์เป็น Hub และ Node ทางศิลปะและวัฒนธรรมของกลุ่มประเทศ CLMTV&CN ประกอบด้วยกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ ไทย เวียดนาม และจีน เช่นเดิม และได้กำหนดให้วิทยาเขต ม.ใหม่ เป็นศูนย์กลางบริหารงาน และจัดการเรียนการสอนเน้นปริญญาตรี ภาควิชาทัศนศิลป์ และภาควิชาศิลปะการแสดง โดยมีห้องนิทรรศการศิลปะพระพิฆเนศวร 1-2 และโรงละครกันทราเธียเตอร์ เป็นศูนย์กลางนำเสนอผลงานศิลปะและการแสดงของนิสิต คณาจารย์ และศิลปินทั่วไป ขณะที่เขตพื้นที่ในเมือง กำหนดให้เป็นที่ตั้งและสถานที่จัดการเรียนการสอนของภาควิชาวัฒนธรรมและการออกแบบ และเป็น “Art and Culture Center of CLMTV&CN” ซึ่งประกอบด้วยศูนย์ความร่วมมือด้านการวิจัยทางศิลปะและวัฒนธรรม CLMTV&CN ศูนย์บัณฑิตศึกษานานาชาติทางศิลปะและวัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์ ศูนย์นวัตกรรมวัฒนธรรมและการออกแบบ และศูนย์ฝึกประสบการณ์บริการและสร้างรายได้ระหว่างเรียน ของนิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ทุกสาขาวิชาโดยภาพรวม
คณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพบูชาทั้งสองพื้นที่ กล่าวคือ พระพิฆเนศวร องค์สำเร็จนิรันดร์ ปั้นต้นแบบโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สันติสุข แหล่งสนาม ปั้นต้นแบบจากภาพร่างเดิมของศาสตรเมธี นนทิวรรธน์ จันทะนะผลิน หล่อด้วยโลหะเนื้อดี ขนาดหน้าตักกว้าง 113 เซนติเมตร สูง 215 เซ็นติเมตร ประดิษฐาน ณ พระแท่นประทับประกอบป้ายศาสตร์และศิลป์ของคณะเมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ.2563 และประกอบพิธีบวงสรวง เบิกเนตร และเทวาภิเษกอย่างยิ่งใหญ่ ในวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ.2563 ตรงกับวันแรม 14 ค่ำ เดือน 12 เวลา 13.00-16.30 น. โดยพระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ (ชวิน รังสีพราหมณกุล) เป็นผู้ดำเนินพิธีเทวาภิเษก นอกจากนี้ ยังได้รับความเมตตาจะพระเถรานุเถระสำคัญของภาคอีสาน มาทำพิธีพุทธาภิเษกองค์พระพิฆเนศวรเช่นกัน กอปรด้วย หลวงปู่หนูอินทร์ กิตติสาธร หลวงปู่จื่อ พันธมุตโต หลวงปู่ขำ เกสาโร หลวงปู่เจ (บุญมา) กตปุญโญ พระอาจารย์มนูญชัย มนุญญพโล เป็นต้น
นอกจากนี้ ภายใต้ฐานปฏิมาพิฆเนศวรองค์สำเร็จนิรันดร์ ยังได้ทำพิธีประจุวัตถุมงคลและศักดิ์สิทธิ์จำนวนหนึ่ง ดังนั้น พระพิฆเนศวรองค์สำเร็จนิรันดร์ จึงเป็นปฏิมาอัคราเทพที่เป็นศูนย์รวมด้วยใจและจิตวิญญาณชาวศิลปะและวัฒนธรรมทั้งมวลอย่างแท้จริง ส่วนคณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์พื้นที่ในเมือง มีพระพุทธรูปโลหะสำริดแบบอีสานล้านช้างปางเปิดโลก ที่งดงาม ศักดิ์สิทธิ์ และมีเอกลักษณ์ที่สะท้อนตัวตนของศิลปวัฒนธรรมอีสานล้านช้าง ขนาดความสูง 3 เมตร ประทับบนพระแท่นประกอบป้ายคณะ พระแท่นดังกล่าวถูกออกแบบให้แฝงคติธรรม เปิดแผ่นหลังองค์พระปฏิมา ให้พุทธศาสนิกชนและสาธารณชนทั่วไปได้เคารพสักการะ พร้อมกับมา “ปิดทองหลังองค์พระปฏิมา” ตามกระแสพระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ทรงตรัสไว้เป็นแนวทางการกระทำความดีแก่ปวงชนชาวไทย