ผศ.ดร.พีระ พันลูกท้าว คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็น “เครือข่ายวัฒนธรรมดีเด่น”

คณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ขอแสดงความยินดีกับ ผศ.ดร.พีระ พันลูกท้าว คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็น “เครือข่ายวัฒนธรรมดีเด่น” ที่มีคุณูปการต่องานด้านวัฒนธรรมจังหวัดมหาสารคาม ประจำปี 2567 ณ หอประชุมจังหวัดมหาสารคาม (บริเวณศาลากลางจังหวัดมหาสารคาม) ตำบลแวงน่าง อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม
 
นายชูชาติ ราชจันทร์ วัฒนธรรมจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า จังหวัดมหาสารคามได้ร่วมกับ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดมหาสารคาม จัดพิธีมอบรางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติเครือข่ายวัฒนธรรมผู้มีผลงานดีเด่น ประจำปีพุทธศักราช 2567 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อยกย่อง สร้างกำลังใจ เสริมแรงจูงใจ และขยายผลความดี ของเครือข่ายทางวัฒนธรรมจังหวัดมหาสารคาม ที่ร่วมกันขับเคลื่อนงานด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมได้อย่างโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ มีผลสัมฤทธิ์เป็นที่พึงพอใจกับทุกภาคส่วน
ทั้งนี้ ภายในงานมีกิจกรรม ประกอบด้วย การประชุมรับทราบนโยบายการขับเคลื่อนงานศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม จาก สภาวัฒนธรรมจังหวัดมหาสารคาม และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดมหาสารคาม การจัดแสดงผลิตภัณฑ์จากศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ชุมชนพลังบวรในมิติทางศาสนา อาหารจากเครือข่ายศาสนิกสัมพันธ์ การจัดนิทรรศการของ ชุมชน องค์กร และองค์กรคุณธรรมต้นแบบโดดเด่น และชุมชนเศรษฐกิจวัฒนธรรมสร้างสรรค์ การนำเสนอวิดีทัศน์นโยบายการขับเคลื่อนงานด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านอีสาน “หมอลำ” จาก สมาคมหมอลำจังหวัดมหาสารคาม และการมอบโล่ มอบเกียรติบัตรยกย่องเชิดชูเกียรติ เครือข่ายประเภทต่างๆ เช่น ประเภทเครือข่ายทางวัฒนธรรมที่มีคุณูปการต่องานด้านวัฒนธรรมของจังหวัด ชุมชน องค์กร และอำเภอคุณธรรม ตามแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570), คนดีศรีจังหวัดมหาสารคาม ประจำปีงบประมาณ 2567, ผู้ส่งเสริมการทำความดี เสริมสร้างค่านิยมวัฒนธรรมที่ดีในสังคมและเครือข่าย, วัฒนธรรมผู้มีผลงานดีเด่น ประจำปี 2567 เป็นต้น
 
นางสาวปราณี วงศ์บุตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า งานยกย่องเชิดชูเกียรติเครือข่ายทางวัฒนธรรมผู้มีผลงานดีเด่นประจำปี 2567 จัดขึ้นเพื่อสร้างกำลังใจ เสริมแรงจูงใจขยายผลความดี ให้เป็นที่ประจักษ์อย่างเป็นรูปธรรม ของเครือข่ายทางวัฒนธรรม ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านต่างๆ ของวัฒนธรรม โดยได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากภาคีเครือข่าย ทุกภาคส่วน ที่ได้เสียสละทุ่มเท กำลังกาย สติปัญญา และกำลังทรัพย์ ทำให้ชุมชน สังคม มีความเข้มแข็งในทุกมิติ ส่งผลให้สังคมอยู่ดีมีสุข นอกจากนี้ยังทำให้การดำเนินงานด้านวัฒนธรรมประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์และบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาประเทศ ตามนโยบายรัฐบาลได้อย่างยั่งยืน
 
Comments are closed.